Pages

Friday, October 2, 2020

คอลัมน์การเมือง - อุบัติเหตุบนถนนไม่ใช่อาถรรพ์ - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

lohduri.blogspot.com

“โค้งผีสิง”, “แยกร้อยศพ” เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกสถานที่ที่เป็น “จุดเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน” ตามความเชื่อด้านสิ่งลี้ลับ เนื่องจากจุดดังกล่าวมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลากลางคืน อย่างไรก็ตาม “เมื่อองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าขึ้น จุดเสี่ยงจำนวนมากได้ถูกพิสูจน์และอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาถรรพ์ใดๆ แต่มาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เองทั้งสิ้น” ประกอบด้วย “คน” หรือพฤติกรรมในการขับขี่ยานพาหนะ เช่น ขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือขับขี่ในเส้นทางที่ไม่ชำนาญ

“รถ” สภาพความพร้อมของยานพาหนะ “ถนน” ทั้งการออกแบบตั้งแต่ต้น รวมถึงสภาพในเวลาปัจจุบัน และ “สิ่งแวดล้อม” เช่น สภาพอากาศ ไฟส่องสว่าง ต้นไม้ริมทาง ฯลฯ ดังตัวอย่างเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดแถลงข่าวที่บริเวณ“โค้งหน้าศาลอาญา” ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ บริเวณ ซ.รัชดา 36 หรือซอยเสือใหญ่อุทิศ ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ถึง ซ.รัชดา 32


ที่นี่เป็นหนึ่งในจุดร่ำลือถึงความ “เฮี้ยน” เพราะเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชิวิตอยู่บ่อยครั้ง ถึงขนาดที่ยุคหนึ่งผู้คนจำนวนมากได้นำตุ๊กตาม้าลายมาเซ่นสังเวยเจ้าที่เจ้าทาง แต่สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ถนนจุดนี้มีผู้สังเวยชีวิตศพแล้วศพเล่าคือ “ในช่วงกลางคืนเมื่อถนนโล่ง ผู้ขับขี่มักใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยในเขตเมืองนั้นอนุญาตให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กม./ชม.” ทั้งที่ถนนและโค้งในเขตเมืองไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้ความเร็วสูง

“อุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยทางกายภาพอย่างเดียว แต่จากพฤติกรรมของคนขับด้วย สังเกตดูตอนกลางวันมันจะไม่มีอุบัติเหตุเพราะความเร็วที่ใช้มันต่ำ แต่พอ
กลางคืนไม่มีรถคุณขับ 120 กม./ชม. ในขณะที่กายภาพออกแบบไว้ที่ 80 กม./ชม. พูดง่ายๆ คุณก็หลุดออดจากโค้ง โค้งนี้เราเรียกโค้งหลังหัก ภาษาอังกฤษเรียก Broken Back Curve คือมีโค้งแรก แล้วก็ทางตรง แล้วก็โค้งอันที่ 2”

คำอธิบายของ ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต วสท. ถึงปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุบริเวณโค้งอันตรายจุดนี้ โดยเมื่อผู้ขับขี่ผ่านมาอาจคิดว่าไม่เป็นอะไรแล้วเข้าโค้งไปเรื่อยๆ แต่พอขับต่อไปอีก 150-200 เมตรแล้วพบทางตรงก็ต้องหักกลับเข้ามาเพราะถ้าถ้าไม่หักก็หลุดไปชนราวกั้น (Guard Rail) ด้านข้างฝั่งทางเท้าหรือฝั่งเกาะกลางถนน แต่การหักรถกลับนั้นทำให้รถเสียการทรงตัว และยิ่งใช้ความเร็วมากย่อมมีโอกาสหลุดโค้งไปชนราวกั้นได้มาก

ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนั้น เชื่อมต่อกันเหมือนลูกโซ่ ระหว่างพฤติกรรมการขับขี่เร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กับโครงสร้างถนนที่ไม่ได้ออกแบบสำหรับรองรับการใช้ความเร็วสูง ส่วนการลดความเร็วของผู้ขับขี่ สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ 1.ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วบริเวณจุดเสี่ยง รวมถึงเพิ่มอัตราค่าปรับความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้สูงขึ้น กับ 2.นำแผงกั้นขนาดใหญ่ที่ทำจากพลาสติกบรรจุน้ำ (Plastic Barrier) กั้นถนนให้เป็นลู่วิ่ง เพื่อบังคับให้ผู้ขับขี่ไม่ใช้ความเร็วถึง 80 กม./ชม. หรืออาจถึงขั้นลดลงมาเหลือไม่เกิน 50 กม./ชม.

ขณะที่ ธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า ใน กทม. จะมีจุดเสี่ยงอยู่หลายจุดอาทิ ถ.รัชดาภิเษก บริเวณโค้งหน้าศาลอาญา หรือถ.นิมิตรใหม่ ที่เป็นเส้นทางชานเมืองย่านมีนบุรี พร้อมกับเปิดเผยว่า “กรณีของโค้งหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกเพียง 9 เดือนแรก ของปี 2563 เกิดอุบัติเหตุไปแล้วถึง 300 ครั้ง” ในจำนวนนี้ที่เป็นระดับรุนแรงคือเดือน ส.ค. 2563เสียชีวิต 1 ศพ และเดือน ก.ย. 2563 เสียชีวิต 3 ศพ ซึ่งมี 2 เรื่องที่ต้องพูดถึงคือ 1.การปรับปรุงทางกายภาพ มีอยู่ 2 ด้าน

ได้แก่ 1.1 ถนนในเมืองจะมีข้อจำกัดมากกว่าถนนนอกเมือง เช่น ทางหลวงเชื่อมระหว่างเมือง หรือทางพิเศษอย่างทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ ซึ่งการออกแบบยกโค้งให้สูงทำกับถนนในเมืองได้ยากกว่าถนนนอกเมือง กับ 1.2 ลักษณะถนนที่เอื้อต่อทัศนวิสัยหรือการมองเห็นของผู้ขับขี่ยานพาหนะ เช่น ต้นไม้ ไฟส่องสว่าง ตลอดจนป้ายเตือนต่างๆ ต้องตรวจสอบว่าปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไรมีความเสียหายหรือไม่

และอีกเรื่องคือ 2.ความประมาทของผู้ขับขี่ เพราะต้องยอมรับว่าการขับรถเร็วเป็นเรื่องของพฤติกรรม ทั้งด้วยความชอบบ้างหรือเป็นความเคยชินบ้าง ซึ่ง กทม.
มีนโยบายด้านความปลอดภัย นอกจากอาชญากรรมแล้วยังรวมถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยประสานกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ช่วยกวดขันวินัยจราจรและติดตั้งกล้องจับความเร็ว รวมถึงให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ตรวจสอบและแก้ไขจุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนบ่อยครั้ง แต่อีกด้านก็ต้องฝากถึงประชาชนให้ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ของตนเองด้วย

“ถ้าเรามี Information (ข้อมูลข่าวสาร) ครบ คำถามที่ 2 ก็จะตามมา เราปฏิบัติตามหรือเปล่า ถ้าเราบอกว่า Information ให้ฉันก็ไม่สนใจ มันก็ยังขับแบบเดิม ก็แสดงว่า Information มันไม่ช่วยแล้ว มันต้องมีอีกตัวเข้ามาเสริม เอาตำรวจมาจับไหม เอากล้องมาติดไหม เราจะเริ่มไปที่ละ Step (ขั้น) แล้วถ้าเราเชื่อเรื่องพฤติกรรม เราก็ต้องเชื่ออีกเรื่องว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุจากความเร็ว หมายความว่ายิ่งเร็วยิ่งเพิ่มความสูญเสีย ฉะนั้นถ้าเราลดความเร็วในเขตเมืองได้ อย่างอันนี้วิ่งได้อย่างไร120 กม./ชม. ไม่เชื่อป้ายหรือเชื่อความชอบตัวเอง”ธนันท์ชัย ระบุ

สำหรับข้อเสนอของ วสท. ในการแก้ไขปัญหาโค้งร้อยศพหน้าศาลอาญารัชดา มีทั้งหมด 8 ข้อ 1.แก้ไขโค้งหลังหักหรือโค้งสองรัศมีที่เชื่อมด้วยทางตรงสั้นให้เป็นโค้งทางเดียวกัน พร้อมติดแผ่นสะท้อนแสงด้านนอกขอบโค้งและติดป้ายจำกัดความเร็ว 2.ยกโค้งด้านนอกให้สูงเพื่อบังคับล้อรถให้วิ่งเข้าโค้งได้ปลอดภัย หรือใช้หินเล็ก (Chip Seal) ปูพื้นเพื่อลดความเสี่ยงรถเสียหลักหลุดโค้ง 3.ลดความเร็วผู้ขับขี่ เช่น กั้นเลนให้เป็นช่องบริเวณโค้งอันตราย ติดตั้งระบบตรวจจับความเร็วเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

4.ปรับปรุงช่องจราจรและเครื่องหมายบริเวณซอยเสือใหญ่อุทิศ (รัชดา 36) เนื่องจากเป็นจุดที่มีรถเข้า-ออกจำนวนมาก 5.เปลี่ยนวิธีการติดตั้งราวกั้น
ให้ชิดขอบทางเท้าและทำจากคอนกรีตหุ้มด้วยยางเพื่อลดแรงกระแทก 6.ปรับพื้นผิวจราจรให้เรียบ บางจุดมีรอยยางมะตอยสึกกร่อน เศษหินแตกเป็นช่องทำให้น้ำขังเมื่อเกิดฝนตก 7.สร้างความเข้าใจกับผู้ขับขี่ ว่าถนนในเมืองรองรับความเร็วได้ไม่เกิน 80 กม./ชม. และ 8.ผลักดันระบบความปลอดภัย (The Safe System Approach) ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) แนะนำให้ทุกประเทศใช้เพื่อลดเจ็บ-ตายบนท้องถนน

อนึ่ง จากบทเรียน ณ โค้งร้อยศพหน้าศาลอาญารัชดา..จะเป็นไปได้หรือไม่ หากรัฐบาลจะทุ่มงบประมาณสำรวจและวิจัยอย่างเป็นวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาบรรดาจุดเสี่ยงทั่วประเทศ “ลดเจ็บ-ตายบนถนน” ลงให้ได้กว่าที่เป็นอยู่!!!

Let's block ads! (Why?)



"พาหนะ" - Google News
October 03, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/34rrRR8

คอลัมน์การเมือง - อุบัติเหตุบนถนนไม่ใช่อาถรรพ์ - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"พาหนะ" - Google News
https://ift.tt/2MoEZOd

No comments:

Post a Comment